ชื่อสมุนไพร

ประสะไพล

ชื่ออื่นๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

ชื่อ

ประสะไพล

สูตรตำรับ

ในผงยา 162 กรัม ประกอบด้วย

      1. เหง้าไพล หนัก 81 กรัม

             2. ผิวมะกรูด เหง้าว่านน้ำ หัวกระเทียม หัวหอม พริกไทยล่อน ดอกดีปลี เหง้าขิง  เหง้าขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ 8 กรัม

             3. การบูร หนัก 1 กรัม

ข้อบ่งใช้

             1. ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ

      2. บรรเทาอาการปวดประจำเดือน

             3. ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

ขนาดและวิธีใช้

กรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ

ชนิดผง

รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 3 - 5 วัน

เมื่อระดูมา ให้หยุดรับประทาน

ชนิดแคปซูล ชนิดเม็ด และชนิดลูกกลอน

รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 3 - 5 วัน เมื่อระดูมา

ให้หยุดรับประทาน

กรณีปวดประจำเดือน

ในกรณีที่มีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ ให้รับประทานยาก่อนมีประจำเดือน

2 - 3 วัน ไปจนถึงวันแรกและวันที่สองที่มีประจำเดือน

ชนิดผง

รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ชนิดแคปซูล ชนิดเม็ด และชนิดลูกกลอน

รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

กรณีขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

ชนิดผง

รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ให้รับประทาน

จนกว่าน้ำคาวปลาจะหมด แต่ไม่เกิน 15 วัน

ชนิดแคปซูล ชนิดเม็ด และชนิดลูกกลอน

รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ให้รับประทานจนกว่า

น้ำคาวปลาจะหมด แต่ไม่เกิน 15 วัน

ข้อห้ามใช้

- ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้

- ห้ามรับประทานในหญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ เพราะจะทำให้มีการขับระดูออกมามากขึ้น

ข้อควรระวัง

- ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้

- กรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน

- กรณีขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน

อาการไม่พึงประสงค์

          -

ข้อมูลเพิ่มเติม

      ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:

           ยาประสะไพล ชนิดยาผง และยาแคปซูล: ปริมาณน้ำไม่เกิน 10.0% v/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 11.0% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 12.0% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 22.0% w/w ปริมาณสารสกัดคลอโรฟอร์ม ไม่น้อยกว่า 9.0% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 0.7% v/w   (ข้อกำหนด Thai Herbal Preparation Pharmacopoeia 2018)

องค์ประกอบทางเคมี

         การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของตำรับยาประสะไพลที่สกัดด้วยเฮกเซน และไดคลอโรมีเทน เปรียบเทียบกับสมุนไพรเดี่ยว และสารมาตรฐาน ด้วยวิธี TLC-densitometer พบองค์ประกอบทางเคมีที่ทราบชนิด จำนวน 4 ชนิด จากสารสกัดเฮกเซน ได้แก่ cis-3-(3’,4’-dimethoxyphenyl)-4- [(E)-3”,4”-dimethoxystyryl]-cyclohex-1-ene,  (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl linoleate,  (E)-4-(3,4-dimetoxyphenyl)but-3-en-1-yl oleate และ  (E)-4-(3,4-dimetoxyphenyl)but-3-en-1-yl palmitate ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีจากไพล สารสกัดตำรับด้วยไดคลอโรมีเทน พบองค์ประกอบทางเคมีที่ทราบชนิด จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ curcumin ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีจากไพล และขมิ้นอ้อย, สาร 4-(3,4-dimetoxyphenyl)but-3-en-1-ol  จากไพล และสาร piperine derivative  จากดีปลี และพริกไทย (สมศักดิ์, 2543)

         สารเคมีจากไพล และเทียนดำ ในตำรับยาประสะไพล  ทำปฏิกริยากันเกิดสารใหม่ 3 ชนิดคือ (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl linoleate, (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-yl oleate และ (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ylpalmitateซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สารผสมกันในตำรับ จนกระทั่งวันที่ 73 หลังเก็บตำรับไว้ สารเหล่านี้คงตัว เป็นเวลา 1 ปี ภายหลังเก็บ (Tangyuenyongwatana and Gritsanapan, 2016)

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก

        ยาประสะไพลสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ สามารถยับยั้งการหดตัวของมดลูกในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์ Sprague Dawleyที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยสาร acetylcholine, oxytocin และ PGE2 ได้ โดยสารสกัดน้ำมีค่าการยับยั้ง IC50 ต่อตัวกระตุ้นทั้งสามชนิดเท่ากับ 11.70, 10.04  และ 5.75 mg/ml ตามลําดับ ในขณะที่สารสกัดแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าคือมีค่า IC50 เท่ากับ 2.09, 1.74 และ 2.95 mg/ml ตามลําดับ (สมศักดิ์, 2543)

ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ

       ยาประสะไพลสกัดด้วยเฮกเซน ในขนาด 25 ไมโครกรัม สามารถลดการอักเสบในการทดสอบในหลอดทดลองได้ โดยการยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ โดยสามารถยับยั้งได้ทั้งชนิด COX-1 และ COX-2 มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 64.43 และ 84.50 เปอร์เซ็นต์ ตามลําดับ (สมศักดิ์, 2543)

การศึกษาทางคลินิก

บรรเทาอาการปวดประจำเดือนและประจำเดือนมาไม่ปกติ

        การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง และประจำเดือนมาไม่ปกติ ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 18-35 ปี โดยให้รับประทานยาประสะไพลก่อนมีประจำเดือนมา 7 วัน ครั้งละ 3 แคปซูล แคปซูลละ 500 มิลลิกรัม 3 เวลา ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น รวมรับประทานครั้งละ 1.5 กรัม หรือวันละ 4.5 กรัม ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 รอบเดือน ในคลินิคศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพของวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกที่ร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และเรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงจำนวน 76 ราย มีการตอบสนองต่อการรักษาทุกรายหรือเห็นผลการรักษาทุกราย แต่ที่สามารถรักษาอาการจนหายเป็นปกติ และไม่มีอาการอีก มีจำนวน  49 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 64.47 ขณะที่คนไข้ที่มีอาการปวดลดลง หรืออาการดีขึ้นมากแต่อาการยังไม่หายเป็นปกติกลับมาเป็นซ้ำได้อีก อันเนื่องมาจากยังไม่สามารถควบคุมสาเหตุของอาการ เช่น ความเครียด รวมถึงไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์แผนไทยแนะนำอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ มีจำนวน 27 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 35.53 ส่วนคนไข้ที่มีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ จำนวนทั้งสิ้น 31 ราย พบว่าสามารถรักษาอาการจนหายเป็นปกติ และไม่มีอาการอีก 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 67.74 จากการใช้ยาตำรับประสะไพล เพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือนรุนแรง และประจำเดือนมาไม่เป็นปกตินั้น ไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ป่วยทุกราย และพบว่าผู้ป่วยจะมีสีของประจำเดือนที่ดีขึ้นคือจากสีคล้ำดำเปลี่ยนเป็นสีแดง ลักษณะความเป็นลิ่มเป็นก้อนลดลงจนหายเป็นปกติ และมีประจำเดือนเพิ่มมากขึ้น (ธัญลักษณ์, 2555)

        การวิจัยทางคลินิก แบบ Randomized controlled trial (RCT): a double blinded study เก็บข้อมูล ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาสาสมัครอายุ 18 - 25 ปี ได้รับการวินิจฉัยจากสูตินรีแพทย์ว่า มีอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (กลุ่มรักษา n=103 คน) รับประทานสารสกัดประสะไพล ขนาด 400 มิลลิกรัม 3 เวลา หลังอาหารทันทีในสามวันแรกของการมีประจำเดือน กลุ่มที่ 2 (กลุ่มควบคุม n=104) รับประทานยามาตรฐานกรดเมฟีนามิก ขนาด 500 มิลลิกรัม หลังอาหารทันที ในสามวันแรกของการมีประจำเดือน มีการติดตามความรุนแรงของการปวดระหว่างรับประทานยาทุกเดือน และหลังจากรับประทานยา 1 เดือน โดยใช้ Visual analog scale สำหรับอาการข้างเคียงหลังจากการใช้ยาติดตามผลหลังจากรับประทานยา 3 และ 6 เดือน โดยใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และคุณภาพชีวิตก่อน และหลังรับประทานยา 6 เดือน โดยใช้ SF-36 สถิติที่ใช้คือ Descriptive statistics and inferential statistics ผลการศึกษาพบว่าหลังจากรับประทานยา 6 เดือน อาการปวดประจำเดือนของอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนรับประทานยา และเมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดปวดระหว่างกลุ่มที่ได้รับกรดเมฟีนามิก และสารสกัดจากตำรับยาประสะไพล พบว่าค่าเฉลี่ยในการลดปวดไม่แตกต่างกัน การตรวจทางห้องปฏิบัติการของอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มทุกคน พบว่าการเปลี่ยนแปลงค่าชีวเคมีในเลือด การทำงานของตับ และไต อยู่ในระดับปกติ ไม่พบอาการข้างเคียง หลังจากการใช้ยาทั้งสองกลุ่ม คุณภาพชีวิตหลังจากรับประทานยาทั้ง 2 กลุ่มดีขึ้น จึงสรุปได้ว่าสารสกัดประสะไพลมีประสิทธิผล ในการลดอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ ไม่แตกต่างจากยามาตรฐาน mefenamic acid และไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง (กุสุมา, 2555)

            การศึกษาแบบ Randomized controlled trial: a double blinded study- two group วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และเชิงอนุมาน อาสาสมัคร มีอายุระหว่าง 18-25 ปี ได้รับการวินิจฉัยโดยสูตินารีแพทย์ว่าเป็น Primary dysmenorrhea (อาการปวดประจำเดือนชนิดธรรมดา ไม่พบความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ร่วมด้วย) โดยกลุ่มที่ 1 ได้รับสารสกัดยาประสะไพล ขนาด 200 mg จำนวน 2 แคปซูล ทานหลังอาหารทันที 3 เวลา เป็นเวลา 3 วัน ก่อนมีประจำเดือน และให้ต่อจนครบ 5 วัน กลุ่มที่ 2 (กลุ่มควบคุม) ได้รับ mefenamic acid ขนาด 250 mg จำนวน 2 แคปซูล ทานหลังอาหารทันที 3 เวลา เป็นเวลา 3 วัน ก่อนมีประจำเดือน และให้ต่อจนครบ 5 วัน ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากได้ทานยาครบทั้ง 3 เดือน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ จากการตรวจร่างกาย ค่าชีวเคมีในเลือด การทำงานของตับ และไต เป็นปกติ จากการเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดอาการปวดระหว่างสองกลุ่ม พบว่าค่าเฉลี่ยของระดับอาการปวดลดลงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนผลข้างเคียงพบว่า กลุ่มที่ได้รับ mefenamic acid มีอาการจุกแน่น ท้องอืด และท้องเฟ้อ 3 คน นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดยาประสะไพล ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง มีเพียงอาสาสมัคร 1 คน มีอาการเรอได้กลิ่นสมุนไพร (จันธิดา, 2555)

           การติดตามประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเบื้องต้นของการใช้ยาแคปซูลประสะไพล เพื่อรักษาอาการประจำเดือนมาผิดปกติ โดยศึกษาแบบติดตามกลุ่มเดียวไปข้างหน้าเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของการทานยาแคปซูลประสะไพลขนาด 250 mg จำนวน 1 หรือ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 2 รอบเดือน (ประมาณ 60-75 วัน) เพื่อรักษาอาการประจำเดือนมาผิดปกติ ผลการวิจัยพบว่า อาสาสมัครจำนวน 24 คนเข้าร่วมการศึกษา  โดยแบ่งเป็นกลุ่มประจำเดือนเว้นช่วงห่าง และประจำเดือนมาน้อยจำนวน 17 และ 5 คนตามลําดับ และประจำเดือนมาถี่ กับประจำเดือนไม่มากลุ่มละ 1 คน หลังจากใช้ยาพบว่ามีผู้ที่หายจากอาการประจําเดือนมาผิดปกติโดยรวมในรอบเดือนที่ 1 และรอบเดือนที่ 2 จำนวน 7 คน (ร้อยละ 29.17, p=0.016) และ 12 คน (ร้อยละ 50, p<0.000) ตามลําดับ เมื่อพิจารณาตามอาการพบว่ากลุ่มประจำเดือนเว้นช่วงห่างมีผู้ที่หายเป็นปกติในรอบเดือนที่ 1  และ 2 จำนวน 1 และ 6 คน ตามลําดับ ส่วนกลุ่มประจำเดือนมาน้อย และประจําเดือนมาถี่ พบว่าทุกคนหายจากอาการผิดปกติในรอบเดือนที่ 1 ขณะที่ไม่มีผู้หายจากอาการประจำเดือนไม่มาหลังใช้ยาจนครบ 2 รอบเดือน และไม่มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาประสะไพลในอาสาสมัครทั้ง 24  คน จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนเบื้องต้นว่าการใช้ยาประสะไพลจำนวน 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการรักษาอาการประจำเดือนมาผิดปกติในหลากหลายกลุ่มอาการ ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้ (ณัฐกานต์ และคณะ, 2559)

การศึกษาทางพิษวิทยา

         การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูขาวเพศเมีย สายพันธุ์ Sprague Dawley พบว่ายาประสะไพลสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ สามารถให้ได้สูงสุดถึง 20 g/kg โดยหนูทุกตัวรอดชีวิต และไม่มีอาการใดๆ ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากให้ยา (สมศักดิ์, 2543)

         จากการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาประสะไพล พบว่ายาประสะไพลที่สกัดด้วย 70% ethanol ซึ่งมีร้อยละ yield สูงที่สุดเท่ากับ 13.37 ทำให้มดลูกของหนูแรทที่แยกจากตัว ในขณะที่มียามาตรฐาน oxytocin ขนาด 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร  มีความถี่ในการหดตัวลดลง ในขนาดยาเพียง 16 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และเมื่อเทียบกับมดลูกของหนูแรทที่แยกจากตัวในขณะที่มียามาตรฐาน oxytocin ขนาด 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แต่ไม่มีสารสกัดตำรับประสะไพล ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำสารสกัดตำรับประสะไพลมาทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน เพราะไม่พบหนูตาย และไม่พบความผิดปกติทางพยาธิวิทยาของอวัยวะภายในต่างๆ จากการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดตำรับประสะไพลในหนูขาว นาน 3 เดือน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษในหนูขาว (จันธิดา, 2555)

         จากการศึกษาประสิทธิผล และความปลอดภัยของตำรับยาประสะไพลในการรักษากลุ่มอาการทางสูตินรีเวชวิทยา ที่ทำการศึกษาวิจัยในคนปกติทางคลินิคระยะที่  1 (clinical trial phase I) พบว่าการให้สารสกัดตำรับยาประสะไพลขนาด 200 มิลลิกรัม ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดตำรับยาประสะไพล ห่างกัน 24 ชั่วโมง และ 400 มิลลิกรัม ในกลุ่มที่ได้รับ mefenamic acid ห่างกัน 24 ชั่วโมง ไม่ทำให้อาสาสมัครทั้ง 20 คน มีสัญญาณชีพ หรืออาการผิดปกติใดๆ ตรวจร่างกายไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้าน hematology, renal function, lipid profile และ liver function ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จึงยืนยันข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาว่า สารสกัดตำรับยาประสะไพลมีความปลอดภัยสูง การพบค่า aspartate aminotransferase (SGOT) และ alanine aminotransferase (SGPT) ที่สูงขึ้นในอาสาสมัคร 1 ราย ที่ได้รับสารสกัดตำรับยาประสะไพลขนาด 200 มิลลิกรัม ไม่ชัดเจนว่าเกิดจากสารสกัดประสะไพลหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาในระยะยาวจำเป็นต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด (จันธิดา, 2555)

เอกสารอ้างอิง

1. กุสุมา ศรียากูล. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของสารสกัดประสะไพลกับกรดเมฟีนามิก ต่อการลดอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิในผู้ป่วย [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์สาธารณสุข]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2555.

2. จันธิดา กมลาสน์หิรัญ, อรวรรณ เล็กสกุลไชย. การศึกษาประสิทธิผล และผลข้างเคียงของสารสกัดตำรับยาประสะไพลกับ Mefenamic acid ในการลดอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 2555;12(4):749-755.

3. ณัฐกานต์ นนตลาด, ประภัสสร ประดากรณ์, รุจิลักขณ์ รัตตะรม์, ราตรี  สว่างจิตร. การติดตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยเบื้องต้นของการใช้ยาแคปซูลประสะไพลเพื่อรักษาอาการประจำเดือนมาผิดปกติ. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเภสัชศาสตร์อีสานวิจัยครั้งที่ 8 “ทักษะสําคัญสําหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในศตวรรษที่ 21”. 13-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559. จัดที่ห้องประชุมคณะพยาบาลศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,จ.มหาสารคาม.

4. ธัญลักษณ์ ปู่คำสุข. การวิเคราะห์ผลการรักษาอาการปวดประจำเดือนและประจำเดือนมาไม่ปกติโดยกระบวนการรักษาด้วยตำรับยาประสะไพล. [วิทยานิพนธ์ปริญญาการแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต]. เชียงราย. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย; 2555.

5. สมศักดิ์ นวลแก้ว. พฤกษเคมีและการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตํารับยาแผนไทย (ประสะไพล) [วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล; 2543.

6. TangyuenyongwatanaP, GritsanapanW. Standardization of Prasaplai, a Thai traditional preparation for antidysmenorrhea. Botanics: target and Therapy. 2016;6:1-9.

 

 

ดูรายละเอียดของเครื่องยาในตำรับ

เหง้าไพล

ผิวมะกรูด

เหง้าว่านน้ำ

หัวกระเทียม

หัวหอม

พริกไทยล่อน

ดอกดีปลี

เหง้าขิง

เหง้าขมิ้นอ้อย

เทียนดำ

เกลือสินเธาว์

การบูร