ชื่อสมุนไพร

ธาตุบรรจบ

ชื่ออื่นๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์

ชื่อพ้อง

ชื่อวงศ์

ชื่อ

ธาตุบรรจบ

สูตรตำรับ

ในผงยา 104 กรัม ประกอบด้วย เนื้อลูกสมอไทย หนัก 16 กรัม โกฐก้านพร้าว หนัก 8 กรัม เหง้าขิง โกฐเขมา โกฐพุงปลา โกฐเชียง โกฐสอ เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนแดง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ดอกกานพลู เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ลูกผักชีลา ใบพิมเสนต้น ดอกดีปลี หัวเปราะหอม การบูร หนักสิ่งละ 4 กรัม

ข้อบ่งใช้

1. บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น

ขนาดและวิธีใช้

• ชนิดผง

ผู้ใหญ่                    รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ   

เด็ก อายุ 6 - 12 ปี   รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

น้ำกระสายยาที่ใช้            

กรณีแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้กระเทียม 3 กลีบ ทุบชงน้ำร้อนหรือใช้ใบกะเพรา ต้มเป็นน้ำกระสายยา

กรณีบรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ใช้เปลือกแค เปลือกสะเดา หรือเปลือกลูกทับทิมต้ม แทรกกับน้ำปูนใสเป็นน้ำกระสายยา

ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ให้ใช้น้ำต้มสุกแทน

• ชนิดแคปซูลและชนิดลูกกลอน

ผู้ใหญ่                    รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ   

เด็ก อายุ 6 - 12 ปี   รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้

ข้อควรระวัง

• ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)

• ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้

• ในกรณีท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ใช้ไม่เกิน 1 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

อาการไม่พึงประสงค์

-

ข้อมูลเพิ่มเติม

• ในสูตรตำรับได้ตัดไคร้เครือออก เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้ และมีการจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุล Aristolochia ซึ่งพืชในสกุล Aristolochia มีรายงานพบว่าก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (nephrotoxicity) และเมื่อปี ค.ศ. 2002 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

องค์ประกอบทางเคมี

-

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหาร

         การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากตำรับยาธาตุบรรจบเปรียบเทียบกับสารสกัดสมอไทยซึ่งเป็นสมุนไพรหลักในตำรับ สกัดสารจากตำรับยาธาตุบรรจบและสมอไทยด้วยวิธีการต้มน้ำและแช่สกัดด้วยเอทานอล และนำกากที่เหลือจากการแช่สกัดนำมาต้มน้ำ แล้วนำสารสกัดไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินอาหาร 8 สายพันธุ์ คือ Staphylococcus aureus, Escherichia coli, Salmonella typhi, Salmonella typhimurium, Vibrio parahaemolyticus, Vibrio cholerae, Shigella dysenteriae และ Pseudomonas aeruginosa ด้วยวิธี Disc diffusion จากนั้นหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ และฆ่าเชื้อ (MICและ MBC ตามลำดับ) ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดชั้นเอทานอลจากสมอไทย สามารถยับยั้งเชื้อทุกชนิดที่ใช้ในการทดสอบได้ ส่วนสารสกัดเอทานอลจากตำรับยาธาตุบรรจบสามารถยับยั้งเชื้อได้ 6 ชนิดคือ S. aureus, E. coli, S. typhi, S. dysenteriae, V. parahaemolyticus และ V. choleraeสำหรับสารสกัดน้ำ และสารสกัดกาก หลังจากการแช่สกัดด้วยเอทานอลจากสมอไทยสามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus, S. dysenteriae และ V. parahaemolyticus ได้ สารสกัดชั้นน้ำ และสารสกัดกากหลังจากการแช่สกัดด้วยเอทานอลจากตำรับยาธาตุบรรจบสามารถยับยั้งได้เฉพาะเชื้อ S. aureus ซึ่งผลจากการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนการใช้ตำรับยาธาตุบรรจบ และสมอไทยในการรักษาอาการท้องเสียตามองค์ความรู้แบบดั้งเดิม (Suthon, et al., 2013)

          การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยการสกัดยาธาตุบรรจบด้วยน้ำ และเอทานอล แล้วนำมาศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย โดยใช้วิธี disc diffusion method โดยใช้ยา gentamycin เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลของตำรับยาธาตุบรรจบ แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงได้ 6 สายพันธุ์ คือ Vibrio parahaemolyticusStaphylococcus aureusVibrio cholerae, Shigella dysenteriae, Escherichia coli และ Salmonellatyphi โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.625, 1.25, 2.5, 2.5, 5 และ 5 mg/ml ตามลำดับ (Jaiarree, et al., 2013)

         การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของตำรับยาธาตุบรรจบต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 7 ชนิด และแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อยาหลายชนิด และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของตำรับ โดยนำสารสกัดเอทานอลของตำรับมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี  broth microdilution methodส่วนการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์เพื่อทดสอบความปลอดภัยของตำรับ ทำการทดสอบในหลอดทดลอง ศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด vero  cellsโดยใช้เทคนิค green fluorescent protein–based assayผลการทดลองพบว่าตำรับยาธาตุบรรจบสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย methicillin resistant S. aureus (MRSA) สายพันธุ์ NPRC R003 125 โดยมีค่า MIC เท่ากับ  31 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ มีค่า IC50มากกว่า 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (ความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารมาตรฐาน ellipticine มีค่า IC50เท่ากับ0.8 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) ซึ่งแสดงว่าตำรับยาธาตุบรรจบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และไม่เกิดพิษต่อเซลล์ (Chusri, et al., 2014)

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

          การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยการสกัดยาธาตุบรรจบด้วยน้ำ และเอทานอล แล้วนำมาศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ (RAW 264.7) ที่ถูกกระตุ้นการอักเสบด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) ตรวจวัดผลการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์จากมาโครฟาจ เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ผลการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำจากเหง้าขิง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของตำรับยาธาตุบรรจบ มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์สูงกว่า Indomethacin (IC50 ของขิง และยามาตรฐานเท่ากับ 2.06 ± 0.09 และ 20.32 µg/ml ตามลำดับ) ส่วนสารสกัดเอทานอลของตำรับยาธาตุบรรจบ แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ในระดับปานกลาง (ค่า IC50 เท่ากับ 27.48 ± 1.25 µg/ml) (Jaiarree, et al., 2013) 

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

          การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของตำรับยาธาตุบรรจบ โดยการสกัดยาธาตุบรรจบด้วยน้ำ และเอทานอล แล้วนำมาศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธีการจับอนุมูลอิสระ DPPH ซึ่งเป็นวิธีทางเคมี เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน Butylated hydroxytoluene (BHT) ผลการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอลของตำรับยาธาตุบรรจบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ค่า EC50 เท่ากับ 7.22 ± 0.72 และ 13.52 ± 0.99 µg/ml ตามลำดับ) โดยออกฤทธิ์แรงกว่าสารมาตรฐาน Butylated hydroxytoluene(BHT) (ค่า EC50 เท่ากับ 14.55 ± 0.69 µg/ml ตามลำดับ) (Jaiarree, et al., 2013) 

การศึกษาทางคลินิก

-

การศึกษาทางพิษวิทยา

ยาธาตุบรรจบเมื่อให้ทางปากแก่หนูไม่แสดงอาการของพิษระยะสั้น LD50 (S.C.) = 5.82 ก./กก.  LD50 (i.p.) = 4.12 ก./กก. ผลจากการทดลองพิษระยะยาว ใช้หนูขาวรวมทั้งสิ้น 127 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 63 ตัว เพศเมีย 64 ตัว ไม่มีสัตว์ทดลองตายตลอดระยะเวลา 6 เดือน ยาธาตุบรรจบในขนาด 0.3%, 5.0% และ 18% คิดเป็นขนาดที่ให้ในคน เท่ากับ 7, 40 และ 300 เท่า โดยประมาณตามลำดับ ในขนาด 7 เท่า จะยับยั้งการเจริญเติบโตของหนูได้เพียงเล็กน้อย และจะเพิ่มขึ้นตามขนาดที่ได้รับ ผลการศึกษาทางโลหิตวิทยามี WBC hemoglobinhematocrit และ platelets สูงขึ้นเล็กน้อย  แต่ยังอยู่ในระดับปกติ  ผลการตรวจปัสสาวะปกติ ค่าต่างๆ จากการตรวจเลือดทางชีวเคมีนับว่าปกติ ประกอบกับการศึกษาทางพยาธิวิทยาไม่มีการบ่งชี้ถึงการเกิดพยาธิสภาพใดๆ ในอวัยวะที่สำคัญๆของร่างกายหนู ได้แก่ สมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต และกระเพาะอาหาร (วันทนา และคณะ, 2530)

เอกสารอ้างอิง

1. วันทนา งามวัฒน์, ปราณี ชวลิตธำรง, เอมมนัส อัมพรประภา, จรินทร์ จันทรฉายะ, รังสรรค์ ปัญญาธัญญะ. ความเป็นพิษของยาธาตุบรรจบ. ไทยเภสัชสาร. 2530;12(4):315-326.

2. Chusri S, Sinvaraphan N, Chaipak P, Luxsananuwong A, Voravuthikunchai SP. Evaluation of antibacterial activity, phytochemical constituents and cytotoxicity effects of Thai household ancient remedies. Journal of Alternative and Complementary Medicine. 2014;20(12):909-18.

3. Jaiarree N, Itharat A, Suthon P, Panthong S. Anti-inflammatory, anti-bacterial and antioxidant activities of Thai medicinal plants for diarrheal treatment. Planta Med. 2013;79(13):PN47.

4. Suthon P, Panthong S, Jaiarree N, Itharat A. Quality control and comparison of antibacterial activity of extracts from Thatbunjob andTerminalia chebula Retz. Journal of Traditional Thai Medical Research.2013:1;47-55.

 

ดูรายละเอียดของเครื่องยาในตำรับ

เนื้อลูกสมอไทย

โกฐก้านพร้าว

เหง้าขิง

โกฐเขมา

โกฐพุงปลา

โกฐเชียง

โกฐสอ

เทียนดำ

เทียนขาว

เทียนสัตตบุษย์

เทียนเยาวพาณี

เทียนแดง

ลูกจันทน์

ดอกจันทน์

ดอกกานพลู

เปลือกสมุลแว้ง

ลูกกระวาน

ลูกผักชีลา

ใบพิมเสนต้น

ดอกดีปลี

หัวเปราะหอม

การบูร